เปลี่ยนการแสดงผล
 
ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ
การเข้าร่วมการประชุมสำนักการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Bureau of WCCJ) ครั้งที่ ๒๑ ณ ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการเวนิส เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี
วันที่ 18 เม.ย. 2567

การเข้าร่วมการประชุมสำนักการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Bureau of WCCJ) ครั้งที่ ๒๑ 
ณ ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการเวนิส เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี                   
ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗

๑. การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (World Conference on Constitutional Justice : WCCJ)
         การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลกเริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙) โดยมีวัตถุประสงค์ตามข้อ ๑ ของข้อบังคับของการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Statue of WCCJ) เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรณีสิทธิมนุษยชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น การจัดการประชุมใหญ่ (Congress) การจัดประชุมและสัมมนาระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคำวินิจฉัยระหว่างกลุ่มภูมิภาคและกลุ่มภาษา ทั้งยังนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับประเทศสมาชิก
         ปัจจุบันการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (World Conference on Constitutional Justice : WCCJ) ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรเทียบเท่าแบ่งตามกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษา รวม ๑๐ องค์กร รวมจำนวนประเทศสมาชิก ๑๒๑ ประเทศ ได้แก่ สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) สมาคมศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (ACCPUF) ศาลในเครือจักรภพ (Commonwealth Courts) สมาคมองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแห่งภูมิภาคยูเรเซีย (EACRB) การประชุมศาลรัฐธรรมนูญของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (CJCPLP) การประชุมศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคแอฟริกา (CCJA) การประชุมศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคยุโรป (CECC) การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคไอเบอโร-อเมริกา (CIJC) การประชุมประธานศาลสูงสุดภูมิภาคแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออก (SEACJF) สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญภูมิภาคอาหรับ (UACCC)

๒. การประชุมสำนักการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Bureau of WCCJ) ครั้งที่ ๒๑
         เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๓๐ น. ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗) ในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) และนายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เข้าร่วมการประชุมของสำนักการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Bureau of WCCJ) ครั้งที่ ๒๑ ณ ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมาธิการเวนิส เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี 
          ในการประชุมดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้แทนของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ดังนี้ 
          - ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) ซึ่งอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญแห่งมองโกเลียนั้น ได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการสมาชิก (Board of Members’ Meeting: BoMM) และการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศ (International Symposium) ผ่านระบบสื่อสารทางไกล ในหัวข้อ "การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” (Protection of Human Rights within the Constitutional Review) ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีผลลัพธ์อันทรงคุณค่าจากการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและแนวทางในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
          - ในปี ค.ศ. ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๗) นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเข้าดำรงตำแหน่งประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ (ในระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๒๓ – ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๖๘)) ได้มีการจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๖ (The ๖th Congress of the AACC) ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” (The Constitutional Courts and Equivalent Institutions in Strengthening Constitutional Justice for Sustainable Society) และการประชุมคณะกรรมการสมาชิก (Board of Members’ Meeting: BoMM) พร้อมประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗ ณ กรุงเทพมหานคร 
         ต่อมาเวลา ๑๔.๓๐ น. ที่ประชุมสำนักการประชุม Bureau of WCCJ ได้มอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ทำหน้าที่ประธานในการประชุมดังกล่าว โดยศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสำนักการประชุม Bureau of WCCJ ครั้งที่ ๒๑ ที่ประชุมมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญดังนี้

 ๒.๑  การเปลี่ยนแปลงเลขาธิการการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก
         แจ้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ของสำนักงานเลขาธิการ WCCJ

 ๒.๒  การอนุมัติร่างรายงานทางเงิน ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) 
         ที่ประชุมพิจารณาร่างรายงานทางการเงิน ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) ในช่วงระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) – ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๗) และยกเว้นค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเอกวาดอร์ยืนยันความประสงค์ขอสิ้นสุดสมาชิกภาพจาก WCCJ และค้างชำระค่าธรรมเนียมในระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๘ – ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) เป็นจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ ยูโร
         ที่ประชุมมีมติอนุมัติรายงานทางการเงิน ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) ตามที่สำนักเลขาธิการฯ เสนอมา และมอบหมายให้ประธานการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคไอเบอโร – อเมริกา หารือกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในประเด็นการดำรงสมาชิกภาพของ WCCJ และรายงานมายังสำนักการประชุม 

๒.๓   การสมัครเข้าเป็นสมาชิกการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก WCCJ ของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐซูรินาม
         ที่ประชุมมีมติรับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐซูรินามเข้าเป็นสมาชิกของ WCCJ และเชิญเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ WCCJ เป็นการชั่วคราวตามข้อ ๒.๒ ของข้อบังคับ WCCJ  

 ๒.๔  การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ (the Statute of WCCJ)  
         เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ WCCJ ครั้งที่ ๓ 
ได้พิจารณาข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนียในการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ WCCJ ข้อ ๔ และข้อ ๙ ในประเด็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพ (termination of membership) มิใช่เพียงการระงับสมาชิกภาพไว้ชั่วคราว (suspension of membership) เท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) 
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขอให้สำนักการประชุมติดตามการให้ความเห็นของสมาชิกต่อการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฯ ดังกล่าว โดยสมาชิก WCCJ ตามกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษา รวมจำนวน ๕ องค์กร (จากจำนวนสมาชิกกลุ่มภูมิภาคหรือกลุ่มภาษา ทั้งหมด ๑๐ องค์กร) ได้ให้ความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรต่อการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ WCCJ อย่างไรก็ดี ข้อบังคับ WCCJ ข้อ ๙ ประกอบกับข้อ ๘ กำหนดว่าในกรณีสมาชิกฝ่าฝืนหลักการที่สำคัญของการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฯ สามารถกระทำโดยมติไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกการประชุมฯ WCCJ ทั้งหมด
         ที่ประชุมอภิปรายการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ WCCJ ข้อ ๔ องค์กร และข้อ ๙ การระงับสมาชิกภาพชั่วคราวหรือการสิ้นสุดสมาชิกภาพ  ด้วยเหตุที่จำนวนสมาชิกที่สามารถเสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฯ ในกรณีการระงับหรือการสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้นไม่ควรเป็นมติที่มาจากกลุ่มภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือกลุ่มภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ควรมีที่มาจากหลากหลายกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษา ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่าจำนวนสมาชิกของการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลกเพียงเท่านั้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้การยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่เพื่อระงับหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพต้องกระทำด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกการประชุม WCCJ ทั้งหมด และต้องเป็นคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกตามกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษาด้วย ความเป็นสมาชิกจะถูกระงับชั่วคราวหรือสิ้นสุดลงเมื่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่เห็นชอบโดยมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสาม
         ที่ประชุมมีมติเสนอที่ประชุมสมัชชาใหญ่เพื่อรับรองการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ WCCJ ข้อ ๔ และข้อ ๙ การระงับสมาชิกภาพชั่วคราวหรือการสิ้นสุดสมาชิกภาพ

๒.๕  การพิจารณาร่างข้อมติเสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐลัตเวีย 
         ที่ประชุมพิจารณาร่างข้อมติที่ว่า เมื่อมีการละเลยหรือคุกคามระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ ในฐานะผู้พิทักษ์หลักนิติธรรมในระบบกฎหมายของทุกประเทศ จึงเห็นว่าความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวต้องครอบคลุมไปถึงการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ แต่โดยที่ข้อมตินั้นมีข้อความที่พาดพิงไปถึงกรณีการรุกรานสาธารณรัฐยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซีย และผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ให้ข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า เนื้อหาของร่างข้อมติควรมีความเป็นกลาง เสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ มีหลักประกันความรับผิดชอบเพื่อตรวจสอบและป้องกันภัยคุกคามที่กระทบต่อหลักนิติธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพราะปัญหาความขัดแย้งมิได้จำกัดเพียงสองประเทศข้างต้นเท่านั้น แต่สามารถปรับใช้กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นได้ 
         ผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานในที่ประชุม Bureau of WCCJ จึงเสนอให้ตัดย่อหน้าที่สามของร่างข้อมติที่เสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐลัตเวียดังกล่าวเนื่องจากมีข้อความที่ก่อให้เกิดผลผูกพันต่อประเทศสมาชิก WCCJ ที่ต้องให้การสนับสนุนความรู้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรต่างๆ เพื่อสร้างกลไลให้เกิดความรับผิดผ่านการป้องกัน ตรวจสอบ และตอบสนองที่มีต่อภัยคุกคามทั้งในระดับชาติและระดับสากล และเสนอให้เพิ่มเติม "s” ลงท้ายคำว่า years (During the last years, …) ในย่อหน้าที่สองของร่างข้อมติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 
         ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ประธานเสนอ 

๒.๖  การประชุมใหญ่ WCCJ ครั้งที่ ๖
        ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหัวข้อ (Theme) การประชุมใหญ่ WCCJ ครั้งที่ ๖ "สิทธิมนุษยชนของคนรุ่นต่อไปในอนาคต” (Human Rights of Future Generations) ตามที่ผู้แทนของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปนเสนอ และรับทราบรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๖ 

๒.๗  การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ (the Statute of WCCJ) เพิ่มเติม 
         เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐทูร์เคียมีหนังสือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ WCCJ ข้อ ๔ (ข) เพื่อเพิ่มกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษา เข้าเป็นสมาชิกสำนักการประชุม จำนวน ๒ กลุ่ม คือ การประชุมศาลรัฐธรรมนูญกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม (CCJ-I) และการประชุมศาลรัฐธรรมนูญของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเตอร์กิช (TURK-AY)
         ที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นการเพิ่มเติมสมาชิกสำนักการประชุม (Bureau) จากกลุ่มภูมิภาค/กลุ่มภาษานั้นยังมีข้อถกเถียงกันมาก ประธานในที่ประชุม Bureau of WCCJ (ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) จึงเสนอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาในเรื่องนี้ออกไปก่อน และเสนอให้นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุม Bureau of WCCJ ในคราวต่อไป
        ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ประธานเสนอ

๒.๘  กำหนดการประชุมครั้งต่อไป
         ที่ประชุมมีมติกำหนดให้มีการประชุมสำนักการประชุมครั้งต่อไปคู่ขนานกับการประชุมใหญ่ WCCJ ครั้งที่ ๖ (กำหนดไว้ชั่วคราวระหว่างวันที่ ๒๗ - ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๖๘)) ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน
 
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02-141-7603
โทรสาร : 02-143-9515
อีเมล์ : con_coll@hotmail.com
หน้าหลัก เกี่ยวกับวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ ดาวน์โหลด